ก่อนอื่นก็สวัสดีทุกท่านนะคะ...
นานมากแล้วที่ไม่ได้เขียนบล็อกเลย พอดูวันที่ของเรื่องที่เขียนคราวก่อนแล้วได้แต่ตกใจ ว่ามันผ่านไปเกือบปีแล้วเหรอเนี่ย?! ตอนที่นั่งพิมพ์อยู่นี่เลยรู้สึกไม่คุ้นเอาซะเลย ถึงแม้จะพิมพ์อยู่ที่โต๊ะเดิมบนคอมเครื่องเดิมก็ตามทีเถอะ...
เอาล่ะค่ะ จากนี้เรามาพูดถึงตัวหนังกันดีกว่าเนอะ
"อนธการ" หรือในชื่อต่างชาติว่า "The blue hour" ซึ่งได้นำไปฉายยังงานใหญ่ในต่างประเทศมาแล้ว จึงสามารถเป็นการการันตีได้ว่า เรื่องนี้น่าจะคุ้มค่ากับการเสียเวลาของคุณๆเพื่อไปดูกัน
ในบทความนี้ จะให้บอกว่าเป็นการสปอยเต็มรูปแบบก็คงไม่ใช่ เพราะหลายคนได้รับรู้เรื่องราวมาจากซีรี่เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอนที่เคยออกอากาศทางทีวีไปแล้ว ในชื่อ "คืนสีน้ำเงิน" (สรุปเรื่องนี้มีถึงสามชื่อด้วยกันสินะ) ซึ่งถ้าจะให้พูดกันตามตรง เนื้อเรื่องที่นำเสนอทางทีวีกับเนื้อเรื่องที่กลายมาเป็นภาพยนต์ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันซักเท่าไร (ในด้านโครงเรื่องและการดำเนินเรื่อง) แต่ที่เพิ่มมาในภาพยนต์ คือการจมดิ่งลึกลงสู่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร การที่เราได้ทำความรู้จักกับตัวละครทีละนิด จนกลายเป็นเหมือนเรื่องราวของเพื่อนที่อยู่ข้างบ้านของเราเอง....
เรื่องเปิดมาที่ "ตั้ม"(กัน อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์) เด็กหนุ่มตัวเล็กที่มักมีเรื่องชกต่อยที่โรงเรียนอยู่เป็นประจำ และเมื่อกลับมาที่บ้าน แทนที่จะพบกับครอบครัวที่ควรจะคอยเป็นกำลังสนับสนุน เขากลับถูกทุบตีด่าทอ และโยนความไม่ไว้ใจเข้าใส่อยู่จนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การนัดพบใครสักคนเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวดที่มีจึงเป็นหนทางเดียวที่ตั้มจะสามารถใช้เพื่อให้ชีวิตอันแสนน่าเบื่อนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้
และคราวนี้คนที่ตั้มนัดมาพบก็คือ "ภูมิ" (โอบ โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) เด็กหนุ่มผู้ซึ่งพบกันทางอินเตอร์เน็ต สโมสรร้างแห่งหนึ่งกลายเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ และเป็นจุดกำเนิดของเรื่องราวที่จะทำให้ชีวิตของตั้มเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปเรื่อยๆ ค่อยๆเตฺิมเต็มให้กันด้วยทั้งความรู้สึกและเซ็กส์ การที่ทั้งคู่พาอีกฝ่ายเข้าสู่โลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ความสัมพันธ์นี้ยิ่งดำดิ่ง และพันเกลียวแน่นขึ้นจนยากที่จะแก้ออกเต็มที
มีฉากหนึ่งที่เราชอบมากคือ ตอนที่ตั้มพูดกับภูมิว่า "รู้มั้ย ว่ากูเกลียดอะไรที่สุดในโลก" "กูเกลียดคนร้องให้ว่ะ มันเหมือนกับว่าเค้าแม่งไม่มีวันผิด"
ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบ อาจเป็นเพราะจขบ.เคยเจอเหตการแบบนี้ในชีวิตจริงมาก่อน เป็นเรื่องจริงที่เวลาที่ทะเลาะ หรือมีเรื่องกับใครสักคน... คนที่ร้องให้ก่อน มักจะดูน่าสงสารและเป็นฝ่ายโดนกระทำอยู่ร่ำไป
นอกจากนั้นยังทำให้เห็นถึงความรู้สึกของตัวตั้มที่มีต่อครอบครัว หรือในความคิดของตั้มคือตัวเองนั้นเป็นฝ่ายถูก... แม้ว่าหายเรื่องที่คนดูต่างก็รู้สึกเหมือนกันว่าตัวละครตัวนี้มีด้านที่เป็นสีดำมืด และเป็นคนผิดในหลายๆเรื่องด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องที่ยืมเงินเพื่อนแล้วไม่ยอมคืนจนถูกทำร้ายร่างกายบ่อยๆ หรือเรื่องที่ขโมยของในบ้านไปขายเพราะต้องการแก้แค้นพ่อ จนทำให้ถูกกล่าวโทษและโดนทำร้ายร่างกาย หลายเรื่องที่เจ้าตัวเป็นคนก่อ แต่กลับไม่ยอมรับโทษจากการกระทำนั้นๆแม้ว่าตัวเองจะเป็นคนผิดก็ตาม...
ส่วนภูมินั้น เป็นตัวละคนที่ไม่ได้เอ่ยถึงปูมหลังของตัวเองมากนัก แต่จากการเล่าเรื่องที่อยู่ในหนังทำให้เรารู้ว่า ตัวภูมินั้นก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวสักเท่าไร
ทั้งสองจึงเหมือนเป็นตัวแทนของวัยรุ่นในครอบครัวที่ขาดการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ขาดการสอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่พ่อแม่กลับตีกรอบสิ่งที่อยากจะเป็นให้โดยไม่สังเกตสักนิด ว่าแท้ที่จริงกรอบเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้ตัวตนของพวกเขาบิดเบี้ยวและไร้รูปทรงมากขึ้นทุกที
ความปรารถนาที่จะมีตัวตนและมีที่ยืนของทั้งคู่ ผลักดันให้ตั้มทำเรื่องเลวร้ายลงไป...
ทั้งการฆ่าพี่ชาย... ที่คอยแต่ทำร้ายร่างกาย และด่าทอ ทั้งยังยุแยงพ่อแม่ให้เชื่อว่าเขาเป็นลูกเลวที่วันๆคอยจะสร้างแต่เรื่องเดือดร้อน
และการว่าจ้างมือปืนเพื่อมาฆ่าพ่อแม่ของตัวเองถึงในบ้าน เพื่อนำเงินที่จะได้จากมรดกไปสร้างโลกที่มีเพียงเขาทั้งสองคนอาศัยอยู่...
สำหรับตัวพ่อตั้มนั้น เราจะไม่ได้เห็นหน้าของเจ้าตัวจนกระทั่งตอนที่พ่อของตั้มตาย เรื่องที่คนดูรับรู้มีเพียงแค่ความเข้มงวดและความไม่ลงรอยกันระหว่างตั้มและพ่อ รวมถึงการที่พ่อเป็นฝ่ายทำร้ายร่างกายของตั้มเท่านั้น ในฉากที่พ่อของตั้มตาย คนดูจึงไม่รู้สึกถึงอารมณ์ร่วมหรือความผูกพันธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ราวกับว่า สำหรับตั้มแล้ว พ่อไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากไปกว่าตัวแสดงประกอบตัวหนึ่ง
แต่สำหรับแม่แล้ว ในตอนแรก แม่ราวกับเป็นที่พึ่งเล็กๆสุดท้ายของตั้ม ที่หวังว่าจะเชื่อใจและคอยเป็นห่วงเขา เพราะอย่างน้อย...ยังไงแม่ก็เป็นแม่ แต่จุดแตกหักอาจเป็นตอนที่แม่เชื่อพี่ชายว่าตั้มเป็นคนขโมยปืนของพ่อไป ซึ่งแม้จะเป็นความจริง แต่ตั้มอาจเพียงต้องการได้รับความรู้สึกเชื่อใจบ้างเพียงเท่านั้น แต่สุดท้ายเขาก็รู้ ว่าแม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนอื่นๆในบ้านเลย ดังนั้นในตอนที่แม่ตาย ความอาวรณ์สุดท้ายที่ตั้มมีให้ก็เพียงการปิดตาให้แม่จากไปอย่างสงบเท่านั้น แต่บนใบหน้าของตั้มกลับไม่มีน้ำตาแม้สักหยดเดียว...
ตัวหนังคุมโทนด้วยสีเทาหม่นตลอดทั้งเรื่อง ด้วยบรรยากาศของทั้งท้องฟ้าและสถานที่ หลายๆอย่างทำให้จขบ.คิดว่าสีเหล่านี้คือตัวแทนของความรูสึกของตั้ม แต่ภาพในเรื่องกลับสว่างขึ้นเมื่อถึงฉากสุดท้าย ซึ่งราวกับว่าเป็นตอนที่ตั้มได้ปล่อยทิ้งเรื่องกังวลต่างๆนาๆเหล่านั้นไว้เบื้องหลังจนหมดแล้ว
ภาพของตัวหนังสวยแปลกตา ตามสไตล์หนังนอกกระแสที่ไม่เน้นความชัดของเฟรม การปล่อยแช่กล้องให้มองเห็นความเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่หน้ากล้อง การจำกัดวงของภาพให้เหลือน้อยจนเราสามารถโฟกัสที่ตัวหนังได้อย่างเต็มที่ (ที่จขบ.ชอบที่สุดคือฉากในกองขยะ ความน่าสนใจคือการปล่อยให้คนดูได้มองการขยับของวัตถุที่เกลื่อนกลาดอยู่รอบความกว้างของจอ ทำให้ทั้งตื่นเต้น และคาดเดาสิ่งที่จะเกิดต่อไปไม่ออก)
หากจะเปรียบเทียบ หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการไล่เสียงของโน้ตดนตรี ที่ค่อยๆเพิ่มความหนักขึ้นทีละนิดอย่างช้าๆ ทำให้คนดูเข้าถึงหนัง และมีเวลาเตรียมตัวที่จะรับฉากต่อไปทีละนิดๆ
เสียงประกอบเหมาะสมและเป็นจังหวะ มีการทิ้งช่วงเงียบของดนตรี และการใส่เสียงประกอบเล็กๆที่ชวนให้ขนหัวลุกได้ไม่มากก็น้อยเมื่อหยุดตั้งใจฟัง องค์ประกอบโดยรวมทั้งหลายเหล่านี้ ดึงให้เราหลุดเข้าไปในหนังโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
เป็นหนังเรื่องแรกในรอบหลายปี ที่ทำให้จขบ.มีอาการเหมือนดดนรถชนเข้าโครมใหญ่หลังดูจบ มันมีทั้งความหม่นและความรู้สึกที่ถูกดึงให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง มองการกระทำของตัวเองช้าๆ รวมถึงระแวดระวังรอบข้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความรู้สึกแปลกที่ไม่เคยเป็นจากการดูหนังเรื่องไหนๆ (ถึงขนาดเดินเหม่อออกผิดประตู จนพนักงานต้องเรียกไว้)
โดยรวมแล้ว เราชอบอารมณ์ ชอบภาพ ชอบเสียง ของตัวหนัง แม้เรื่องราวบางส่วนจะทำให้เราสับสนและไม่เข้าใจไปบ้าง แต่การได้ใช้เวลาในการคิด ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง และตีความความหมายที่แทรกมากับเรื่อง ทำให้เราดูหนังเรื่องนี้สนุกขึ้นมากทีเดียว
สุดท้ายนี้ ขอบอกไว้ก่อนว่าเป็นหนังเฉพาะทางค่ะ ไม่เหมาะกับผู้ชมบางท่าน ดังนั้นก่อนดูให้ตัดสินใจดีๆก่อนนะคะ ถ้าไม่เคยดูหนังแนวนอกกระแส หรือไม่ชอบเสพย์งานภาพ งานเพลง และการตีความเนื้อเรื่อง เราคงไม่แนะนำค่ะ
ขอให้ทุกท่านสนุกกับการชมภาพยนต์นะคะ
เด็กหอดูหนัง : ^ ^